การบุกครองอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ. 2091–2092) ของ สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้

แผนที่ภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย แสดงเมืองที่ถูกกองทัพพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยึด ผังเมืองกรุงศรีอยุธยาและคลองที่แวดล้อมอยู่ทางด้านขวาล่าง

แผนการรบพม่า

พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังไม่สมพระทัย และทรงวางแผนการบุกครองอาณาจักรอยุธยา ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2091 พระองค์ทรงรวบรวมกองทัพอีก 12,000 นาย[2] ซึ่งมีทหารรับจ้างโปรตุเกสรวมอยู่ด้วยประมาณ 400 นาย ซึ่งมีดิเอโก โซอาริส (Diogo Soares) เป็นผู้นำ[24] ส่วนพงศาวดารอยุธยาระบุว่ากองทัพพม่ามีกำลังพลทหารราบ 300,000 นาย ม้า 3,000 ตัว และช้างศึก 700 เชือก[25] กำลังบุกครองใช้อาวุธตามแบบในสมัยนั้น ได้แก่ ดาบ ธนูและหอก[26] ส่วนทหารยอดฝีมือจะถือปืนคาบชุดหรือปืนคาบศิลา[27] ชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำอาวุธสมัยใหม่ตอนต้นเหล่านี้มายังราชอาณาจักรทั้งสองไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้านี้

พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงบังคับบัญชากองทัพด้วยพระองค์เองและประชุมพลที่มะตะบัน (เมาะตะมะ)[28] กำลังบุกครองมีการจัดระเบียบเป็นสามกองทัพหลัก ได้แก่ ทัพหน้ามีบุเรงนองเป็นผู้นำ ทัพหลวงมีพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เป็นผู้นำ และทัพหลังมีพระตะโดธรรมราชาและเมงจีสเวเป็นผู้นำ แต่ละกองมีกำลัง 4,000 นาย[2] เส้นทางบุกครองคือผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ไปกาญจนบุรี แล้วไปกรุงศรีอยุธยา

เริ่มบุกครอง

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2091 กองทัพพม่าสามกองออกจากมะตะบันเพื่อเริ่มการบุกครอง กองทัพเลาะแม่น้ำอัตทะรันมุ่งด่านเจดีย์สามองค์ เข้าสู่อาณาจักรอยุธยาตามแม่น้ำแควน้อยถึงเมืองไทรโยค แล้วยกตัดแผ่นดินมุ่งแม่น้ำแควใหญ่ จากที่นั่น กองทัพล่องเรือมุ่งเมืองกาญจนบุรี[29] พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เสด็จพระราชดำเนินโดยมีข้าราชบริพารและช้างจำนวนมหาศาล ช้างเหล่านี้หลายเชือกบรรทุกปืนคาบศิลาและปืนใหญ่บรอนซ์ซึ่งเก็บรักษาใกล้องค์พระมหากษัตริย์ ช้างหลวงถูกขนแพข้ามแม่น้ำ ส่วนช้างศึกธรรมดาเดินทวนน้ำไปบริเวณจุดข้าม พระองค์ทรงมีบุเรงนอง มกุฎราชกุมาร และนันทบุเรง พระโอรสวัย 13 พรรษาของบุเรงนอง และขุนนางที่แต่งกายหรูหราหลายคนตามเสด็จ คนงานหลายร้อยคนเดินล่วงหน้าข้าราชบริพารของพระมหากษัตริย์ เพื่อตั้งค่ายไม้ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีการลงสีและเลื่อนสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ และมีการรื้อและตั้งค่ายที่ตำแหน่งใหม่ทุกวัน[24]

การบุกครองทีแรกเผชิญการต้านทานเพียงเล็กน้อย เพราะกองทัพพม่าใหญ่เกินด่านยามเล็ก ๆ ตามพรมแดน[18] เมื่อทรงทราบข่าวการบุกครองของพม่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงระดมพลราชอาณาจักรของพระองค์ แล้วประชุมทัพที่เมืองสุพรรณบุรีที่อยู่ทิศตะวันตกติดกับกรุงศรีอยุธยา[30] เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และทัพของพระองค์มาถึงเมืองกาญจนบุรีที่มีกำแพงล้อม ก็พบว่าเมืองถูกทิ้งร้าง[31] ประมาณหนึ่งเดือนหลังบุกครอง กลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2091[note 5] พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ก็เคลื่อนทัพต่อไปทางทิศตะวันออก ยึดบ้านทวน กะพังตรุและจรเข้สามพัน[31] พม่ายังรุกต่อและยึดเมืองโบราณอู่ทอง ตลอดจนหมู่บ้านดอนระฆังและหนองสาหร่ายและประชิดสุพรรณบุรี เมื่อพม่าโจมตีเมือง ฝ่ายอยุธยาที่ป้องกันต้านทานไว้ไม่อยู่และถอยกลับกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงสั่งให้กองทัพยกไปตะวันออกเฉียงใต้ตามสองคลอง และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับพงแพง จากที่นั้นพระองค์ทรงตั้งค่ายเหนือพระนครกรุงศรีอยุธยาโดยตรงในทุ่งที่เรียก ทุ่งลุมพลี[31]

ยุทธการที่กรุงศรีอยุธยา

ชานพระนคร

ภาพสมเด็จพระสุริโยทัย (กลาง) บนหลังช้างทรง ขับช้างเข้าระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ขวาหลัง พระคชาธารมีฉัตร) และพระเจ้าแปร (ซ้าย) เป็นการเล่าตามประเพณีไทย จิตรกรรมโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ฝ่ายอยุธยามีอุบายตั้งรับภายในกำแพงพระนคร โดยกวาดต้อนพลเมืองที่อยู่บริเวณนอกเมืองให้เข้ามาอยู่ในพระนครให้ได้มากที่สุด และจัดทหารขึ้นประจำป้อมรอบกำแพง ซึ่งบนกำแพงมีป้อม 16 ป้อม และยังส่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกไปตั้งค่ายรอบเมืองอีก 4 ค่าย[32]

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตัดสินพระทัยยกทัพออกนอกพระนครเข้าประจัญกับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และเพื่อลองกำลังของพม่า[32] คราวนี้ พระองค์ทรงพระคชาธารส่วนพระองค์ โดยมีพระอัครมเหสี สมเด็จพระสุริโยทัย พร้อมด้วยพระราชธิดาอ่อนพระองค์หนึ่ง พระบรมดิลก ตามเสด็จด้วย และทั้งสองทรงช้างศึกเชือกเล็กกว่า สตรีทั้งสองพระนางทรงเครื่องเป็นทหารอย่างชาย (หมวกเกราะและชุดเกราะ) โดยสมเด็จพระราชินีแต่งเครื่องแบบอุปราช นอกจากนี้ พระราเมศวร พระอุปราชและทายาทผู้มีสิทธิ์โดยตรง และพระมหินทร ราชโอรสอีกพระองค์ ก็ตามเสด็จด้วย[31][25]

เกิดการยุทธ์ตามมาแต่สองบันทึกเล่าต่างกัน พงศาวดารพม่าว่า แม่ทัพพม่าจัดกองทัพซึ่งมีพระตะโดธรรมราชา อุปราชปยี (แปร) เป็นตัวล่อ และสองกองทัพคืบเข้าทางปีกเพื่อล้อมกองทัพอยุธยาที่ล้ำเกิน ซึ่งเป็นไปตามแผน ทหารทัพหน้าของอยุธยาไล่กองทัพของพระตะโดธรรมราชา ทำให้กองทัพของบุเรงนองที่คอยอยู่ทางปีกซ้ายล้อมทัพอยุธยาซึ่งต่อมาถูกกวาดสิ้น กองทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ที่อยู่ปีกขวาขับทัพอยุธยาที่เหลือกลับเข้าพระนคร[33]

ทว่า ตามประเพณีไทย พระตะโดธรรมราชาและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิชนช้างกัน[note 6] พระคชาธารของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีหันหนีจากข้าศึก พระตะโดธรรมราชารีบไล่หลังมา สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงว่าพระสวามีจะเสด็จสวรรคต จึงขับช้างเข้าขวางระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและอุปราชแปร ทำให้ไม่สามารถไล่ต่อได้[25][34] จากนั้นอุปราชแปรหันมาต่อสู้กับสมเด็จพระสุริโยทัยในการสู้รบเดี่ยว อุปราชแปรใช้ของ้าวฟันพระนางตั้งแต่พระอังสา (ไหล่) ถึงพระหฤทัยสวรรคต ทั้งทำให้พระราชธิดาบาดเจ็บด้วย ทั้งมารดาและธิดาเสียชีวิตบนหลังคชาธารเชือกเดียวกัน[20][24][34] เล่ากันว่า อุปราชแปรไม่ทรงทราบว่าพระองค์กำลังรบกับสตรีอยู่จนพระองค์ทรงฟัน เมื่อพระนางสิ้นใจล้มลงนั้นหมวกเกราะที่ทรงอยู่หลุดออกเผยให้เห็นผมยาว พระราเมศวรและพระมหินทร์ทรงขับช้างเข้าต่อสู้กับอุปราช ขับอุปราชและทัพที่เหลืออยู่ออกจากทุ่ง แล้วนำพระบรมศพสมเด็จพระราชชนนีและพระขนิษฐภคินีกลับเข้ากรุง ขณะเดียวกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิรวบรวมกองทัพแล้วจึงถอยกลับพระนครอย่างมีระเบียบเช่นกัน[25][34] ทว่า พงศาวดารพม่ามิได้เอ่ยถึงการสู้รบใด ๆ ของอุปราชแปรเลย (ไม่ว่าบนหลังช้างหรืออย่างอื่น)[note 7]

ไม่ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทัพอยุธยาที่เหลือถอนกลับไป พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงเตรียมกองทัพสำหรับล้อมกรุงศรีอยุธยา ค่ายของพระองค์ตั้งอยู่ทางเหนือของพระนครที่บ้านกุ่มดอง และแม่ทัพของพระองค์ตั้งค่ายอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญโดยรอบกำแพงนคร โดยมหาอุปราชบุเรงนองตั้งค่ายที่พะเนียด พระเจ้าแปรตั้งค่ายที่บ้านใหม่มะขามหย่อง และพระยาพสิมตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งประเชด[34] ทว่า พม่าไม่สามารถหักเอาพระนครได้โดยง่าย[35]

การล้อม

กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนเกาะซึ่งมีแม่น้ำสามสายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำลพบุรีทางเหนือ แม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกและใต้ และแม่น้ำป่าสักทางตะวันออก ถือว่าเป็นคูเมืองธรรมชาติที่มั่นคง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเป็นที่ราบลุ่มและเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากเมื่อน้ำเชี่ยวกรากไหลปริมาณมากจากทิศเหนือตามแม่น้ำลพบุรี น้ำท่วมนี้จะเริ่มประมาณเดือนรกฎาคมและสิ้นสุดลงระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ทำให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงมีเวลาห้าเดือนหักเอากรุงศรีอยุธยา หรือมิฉะนั้นพื้นที่ตั้งค่ายและเส้นทางส่งเสบียงจะถูกน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่น้ำท่วมดังกล่าวจะทำให้กองทัพของพระองค์ติดกับ[30] พื้นที่ลุ่มเป็นหนองน้ำโดยรอบกรุงศรีอยุธยามีการขุดคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้เรือปืนที่ติดปืนใหญ่สามารถยิงขับไล่ความพยายามใด ๆ ที่จะโจมตีพระนคร[30] นอกจากนี้ ฝ่ายพม่านำเพียงปืนใหญ่ขนาดเล็กติดมา ขณะที่กรุงศรีอยุธยามีปืนใหญ่ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บนกำแพงนคร[30][36]

พม่าล้อมนคร แต่ไม่สามารถข้ามแม่น้ำหรือเจาะกำแพงนครด้วยการยิงปืนใหญ่ ทำให้ต้องไปตั้งค่ายโดยรอบพระนครแทน ในขณะที่ทางน้ำซึ่งเชื่อมถึงกันจากเหนือถึงใต้ ทำให้การหากำลังบำรุงฝ่ายป้องกันในนครค่อนข้างง่าย ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส 50 นาย โดยมีกาลิโอเต เปเรราเป็นนายกอง ป้องกันส่วนที่อ่อนแอที่สุดของกำแพงนครให้พระมหากษัตริย์อยุธยา เนื่องจากฝ่ายพม่าไม่สามารถหักนครได้ตามแบบธรรมดา พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงทรงเสนอติดสินบนทหารรับจ้างเหล่านี้ แต่ทหารรับจ้างโปรตุเกสดูถูกและปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เมื่อแม่ทัพอยุธยาทราบข่าว ก็เปิดประตูนครท้าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ให้นำเงินมา แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง[36]

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่สามารถขับพม่าออกไปได้ จึงทรงส่งสารถึงพระมหาธรรมราชาที่พิษณุโลก มีพระบรมราชโองการให้ยกทัพลงใต้มาช่วย และหากเป็นไปได้ให้ประจัญบานข้าศึกในการรบด้วย พระมหาธรรมราชาระดมพลอย่างรวดเร็วและด้วยความช่วยเหลือของเจ้าเมืองสวรรคโลก กองทัพพิษณุโลกขนาดใหญ่เคลื่อนลงใต้เพื่อโจมตีกองทัพพม่าทางด้านหลัง พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงทราบข่าว และด้วยการกราบบังคมทูลแนะนำของบุเรงนอง พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงตัดสินพระทัยถอนทัพ ละทิ้งความตั้งใจที่จะหักเอากรุงศรีอยุธยา[36] การตัดสินพระทัยของพระองค์ยังเกี่ยวเนื่องกับข่าวจากพม่าว่าพวกมอญซึ่งไม่เคยถูกราชวงศ์ตองอูปราบปรามทั้งหมด ก่อกบฏระหว่างที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับ[25] ปัจจัยอื่นรวมไปถึงการขาดแคลนเสบียงและการเจ็บป่วยในกองทัพ ซึ่งมิได้เตรียมการรับการล้อมระยะยาว[35] และภายในหนึ่งเดือนหลังจากการล้อมเริ่มต้นขึ้น (ราวเดือนเมษายน) พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ถอนทัพ[37][36][38]

การถอยทัพ

ภาพจากจังหวัดตากมองไปยังหุบเขาของรัฐฉาน ไม่ไกลจากด่านแม่ละเมา ซึ่งกองทัพพม่าใช้เป็นเส้นทางถอยทัพ

ทัพพม่าเลือกถอยไปทางด่านแม่ละเมา (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) ระหว่างการถอย ทัพพม่าพยายามปล้นเมืองกำแพงเพชรที่เก่าแก่และมั่งคั่ง แต่เมืองนั้นมีการป้องกันหนาแน่นเกินไป ด้วยการช่วยเหลือของทหารรับจ้างโปรตุเกส เจ้าเมืองก็ขับทัพพม่าด้วยกระสุนเพลิงที่บีบให้พม่าเลือกใช้ปืนใหญ่และป้องกันโดยใช้หนังสัตว์ชื้นคลุม[36]

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเห็นว่าการถอยทัพของพม่าเป็นโอกาสฉวยโอกาสในยามอ่อนแอ จึงรับสั่งให้พระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาติดตามและก่อกวนข้าศึกออกจากแผ่นดินอยุธยา[35] เป็นเวลาสามวัน ทัพอยุธยาขับไล่ผู้รุกราน และทำให้พม่าสูญเสียใหญ่หลวง[37][38] เมื่อทัพพระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาเข้ามาใกล้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงปักหลักใกล้กำแพงเพชร โดยแบ่งทัพออกถนนสองข้าง ฝ่ายอยุธยาที่กำลังระเริงตกหลุมพราง พม่าจับทั้งพระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาเป็นเชลยศึกได้ทั้งสองพระองค์[37][36][39]

การได้ตัวทั้งสองพระองค์เป็นการบีบบังคับให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องเจรจากับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ พระองค์ทรงมอบช้างศึกสองเชือก ได้แก่ ช้างพลายศรีมงคลและช้างพลายมงคลทวีปเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน[40] จากนั้น กองทัพพม่าจึงได้ถอยทัพกลับโดยสันติ นอกเหนือจากนั้น พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังได้ปล่อยตัวเชลยศึกอีกจำนวนมากที่ได้ถูกจับตัวไว้ระหว่างการทัพ[39][41] การทัพดังกล่าวเริ่มต้นและสิ้นสุดลงในเวลาห้าเดือน[37]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม